สนิมที่เกาะติดตามพื้นผิวโลหะอาจดูเหมือนปัญหาเล็ก ๆ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ ก็อาจทำให้วัตถุเสื่อมสภาพหรือเสียหายได้ง่าย ๆ หลายคนอาจคิดว่าการกำจัดสนิม ต้องใช้สารเคมีแรง ๆ หรืออุปกรณ์เฉพาะทางเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง คุณสามารถใช้แปรงที่หาได้ใกล้ตัว เช่น แปรงสีฟันเก่า ฟองน้ำล้างจาน หรือแปรงขัดเล็บ ร่วมกับวัตถุดิบจากในครัวเรือนอย่างน้ำส้มสายชู เบกกิ้งโซดา หรือมะนาว ในการขจัดสนิมได้อย่างง่ายดาย ทั้งสะดวก ปลอดภัย และไม่ต้องเสียเงินซื้ออุปกรณ์แพง ๆ โดยในบทความนี้จะพาคุณไปดูวิธีง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำเองได้ที่บ้าน รวมทั้งมารู้กันก่อนว่าสนิมนั้นเกิดจากอะไร และจะป้องกันไม่ให้เกิดสนิมได้อย่างไรบ้าง
สนิมเกิดจากอะไร? เตรียมกำจัดสนิม และป้องกันไม่ให้เกิดได้ง่าย ๆ

สนิมเกิดขึ้นเมื่อโลหะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนและน้ำ ในสภาพแวดล้อมที่มีความเปียกชื้น ซึ่งโดยทั่วไปสนิมมีลักษณะเป็นผลสีน้ำตาลแดง โดยกระบวนการเกิดสนิมนั้นเป็นกระบวนการทางเคมีที่เรียกว่าการกัดกร่อน เมื่อเกิดขึ้นแล้วจึงทำให้พื้นผิวของเหล็กบริเวณนั้นเสียหายได้ นอกจากความสวยงามที่หายไปแล้ว ยังทำให้แตกหัก กร่อน หรือเสื่อมสภาพ จึงต้องมีการกำจัดสนิม เพื่อให้พื้นผิวบริเวณนั้นดีขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้เกิดสนิมเร็วขึ้น
- ความชื้นและน้ำ: ความชื้นในอากาศสูง เช่น ใกล้ทะเล ทำให้เหล็กเกิดสนิมเร็วขึ้น
- ออกซิเจน: ออกซิเจนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปฏิกิริยาทางเคมีเกิดขึ้นได้
- สารละลายเกลือ (NaCl): เกลือในน้ำทะเลทำหน้าที่เป็นตัวนำไฟฟ้า (Electrolyte) เร่งการถ่ายโอนอิเล็กตรอนระหว่างเหล็กกับออกซิเจน
- กรด (pH ต่ำ): สภาพแวดล้อมที่เป็นกรด (pH ต่ำ) เช่น ฝนกรด จะเร่งการกัดกร่อนของโลหะ
ผลกระทบของการเกิดสนิท
- ความเสียหายทางกายภาพ: สนิมทำให้โลหะแตกหัก กร่อน หรือเสื่อมสภาพ
- การลดความแข็งแรงของโครงสร้าง: ในโครงสร้างที่ใช้เหล็ก เช่น สะพาน อาคาร หรือโครงเหล็ก สนิมสามารถทำให้โครงสร้างอ่อนแอลงและเสี่ยงต่อการพังทลายได้
- ความเสียหายทางเศรษฐกิจ: การซ่อมแซมโครงสร้างที่เกิดสนิมมีค่าใช้จ่ายสูงในอุตสาหกรรมก่อสร้างและการขนส่ง
วิธีป้องกันการเกิดสนิม
- การเคลือบผิว (Coating): ใช้สารเคลือบผิว เช่น สีทาเหล็ก (Anti-rust paint) หรือเคลือบผิวด้วยพลาสติก
- การชุบกัลวาไนซ์ (Galvanization): เคลือบเหล็กด้วยสังกะสี (Zinc) เพื่อป้องกันสนิม
- การใช้สแตนเลส (Stainless Steel): ใช้โลหะผสมเหล็กกับโครเมียมเพื่อให้ทนทานต่อการกัดกร่อน
- การควบคุมสภาพแวดล้อม: ลดความชื้นหรือใช้สารดูดความชื้นในที่ปิด เช่น ภาชนะเก็บเครื่องมือ
- การใช้กระแสไฟฟ้าป้องกัน (Cathodic Protection): ติดตั้งแอโนด (Anode) ที่มีศักย์ไฟฟ้าต่ำกว่าเหล็กเพื่อป้องกันไม่ให้เหล็กกลายเป็นแอโนด
กำจัดสนิมได้ด้วยตนเอง ด้วยอุปกรณ์ที่หาได้ภายในบ้าน

สำหรับการกำจัดสนิมกับข้าวของเครื่องใช้ภายในครัวเรือน สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องใช้สารเคมีแรง ๆ ไม่ต้องมีเครื่องมือที่ซับซ้อน ด้วยอุปกรณ์ที่หาได้ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นแปรง หรือน้ำยาต่าง ๆ ซึ่งทำได้อย่างปลอดภัย และหลาย ๆ อย่างไม่ทำลายพื้นผิวของสิ่งนั้น ๆ อีกด้วย ซึ่งมีอุปกรณ์และวิธีการที่สามารถทำได้ดังนี้
- น้ำส้มสายชู
น้ำส้มสายชูนั้นมีประโยชน์มากมาย หาได้ง่าย ๆ และราคาไม่แพง ซึ่งจะใช้น้ำส้มสายชูแบบใดก็ได้ โดยนำสิ่งของที่ขึ้นสนิมมาแช่ทิ้งไว้ตั้งแต่ 30-60 นาที หากมีคราบหนักอาจจะต้องแช่ทิ้งไว้ข้ามคืน จากนั้นให้นำแปรงขัด ซึ่งอาจจะใช้แปรงที่หาได้ง่าย ๆ ในบ้านอย่างแปรงสีฟันเก่ามาขัด ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา หรือถ้ามีแปรงลวดก็จะทำให้ขัดออกได้ง่ายขึ้น แต่ก็ต้องระวังเรื่องพื้นผิวสิ่งที่ขัดด้วย จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด เช็ดให้แห้งเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำ ข้อดีของน้ำส้มสายชูคือหาได้ง่าย แต่อาจจะใช้เวลานานสำหรับสนิมที่ฝังลึก - น้ำมะนาวกับเกลือ
น้ำมะนาวกับเกลือเป็นของที่หาได้ง่ายตามครัวเรือนทั่วไป โดยให้โรยเกลือลงบริเวณที่เกิดสนิมจนทั่ว จากนั้นบีบน้ำมะนาวลงให้ทั่วจนชุ่มเกลือ แล้วทิ้งไว้ 1-2 ชั่วโมง จากนั้นให้นำแปรงมาขัดสนิมออก หากยังไม่หมดก็ให้ทำซ้ำโดยเติมเกลือและมะนาวเพิ่ม เมื่อขัดออกเรียบร้อยแล้วให้ล้างด้วยน้ำและเช็ดให้แห้ง ข้อเสียของการใช้น้ำมะนาวกับเกลือคือต้องใช้ปริมาณมาก และใช้เวลานานจึงจะได้ผลดี ทำให้ไม่เหมาะกับการใช้ในสนิมที่ติดแน่น เหมาะกับการใช้ในสิ่งที่มีสนิมขึ้นน้อย ๆ จุดไม่ใหญ่ - มันฝรั่งกับน้ำยาล้างจาน
ในมันฝรั่งมีสารที่ชื่อว่าออกซาลิกแอซิด ที่ช่วยกำจัดสนิมได้ โดยวิธีการคือนำมันฝรั่งมาผ่า จุ่มลงในน้ำยาล้างจาน แล้วนำไปขัดถูบริเวณที่มีสนิม ถูจนกว่าสนิมจะหลุด จากนั้นจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด และเช็ดให้แห้ง ข้อดีคือมีความปลอดภัย ไม่มีกลิ่นฉุน ข้อเสียคือต้องใช้แรงเยอะ ไม่เหมาะกับสนิมที่ฝังลึก - เบกกิ้งโซดา
เบกกิ้งโซดาเป็นผงสารพัดประโยชน์ที่มีติดบ้านไว้ต้องได้นำมาใช้อย่างแน่นอน โดยวิธีการใช้งานคือนำเบกกิ้งโซดาผสมน้ำเล็กน้อยให้เหมือนแป้งเปียก แล้วนำไปทาพอกไว้ที่บริเวณที่เป็นสนิม ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง จากนั้นนำแปรงมาขัดออก โดยใช้แปรงสีฟันเก่า แปรงขัด หรือแปรงลวด ตามแต่ที่มี จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด เช็ดให้แห้ง ซึ่งวิธีนี้อาจจะต้องทำหลายรอบเพื่อให้สนิมออกจนหมด - น้ำอัดลม
อีกหนึ่งวิธียอดนิยมในการกำจัดสนิม วิธีคือนำวัตถุที่เป็นสนิมแช่น้ำอัดลม ซึ่งในน้ำอัดลมจะมีกรดฟอสฟอริกที่ช่วยให้สนิมหลุดออกได้ง่ายขึ้น โดยแช่ทิ้งไว้ข้ามคืน จากนั้นใช้แปรงขัด หรือใช้ฟองน้ำล้างจานด้านที่เป็นใยขัด ค่อย ๆ ขัดออก แล้วล้างน้ำพร้อมเช็ดให้แห้งสนิท - กระดาษทราย
การใช้กระดาษทรายขัดก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้สนิมหลุดไปได้ โดยใช้กระดาษทรายเบอร์หยาบขัดก่อน แล้วค่อยใช้เบอร์ละเอียดในการเก็บงานให้ผิวเนียนขึ้น วิธีนี้ใช้ได้ผลดีกับสนิมที่ฝังแน่น แต่ข้อเสียคือต้องใช้แรงเยอะ และอาจทำลายพื้นผิวบริเวณนั้น เพราะการขัดจะทำให้เป็นรอย - น้ำยากำจัดสนิม
ในปัจจุบันนี้มีน้ำยาล้างสนิมที่มีความปลอดภัยมากขึ้น ที่สามารถใช้งานได้ง่าย และหาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ต ข้อดีคือสามารถกำจัดสนิมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งการใช้งานนั้นควรทำตามคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น และควรใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างถุงมือ หน้ากากป้องกันสารเคมี
บทสรุป
หากคุณมีอุปกรณ์เหล่านี้อยู่ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นแปรงขัด แปรงสีฟันเก่า แปรงลวด ฟองน้ำล้างจาน น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว เบกกิ้งโซดา น้ำยาล้างจาน ฯลฯ ก็สามารถกำจัดสนิมกันได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีที่เราได้แนะนำเอาไว้ข้างต้น และหากว่าคุณไม่อยากให้เกิดสนิมขึ้นอีก ก็อย่าลืมป้องกันสิ่งของในบ้านของคุณด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บในพื้นที่แห้งสนิท หรือการเก็บวัตถุโลหะในกล่องที่มีสารดูดความชื้น การทาน้ำมันบาง ๆ ลงบนพื้นผิวที่เป็นโลหะ หากควบคุมปัจจัยเกี่ยวกับความชื้นไม่ได้ก็อย่าลืมสังเกตสิ่งต่าง ๆ ภายในบ้าน หากเริ่มมีสนิมเกิดขึ้นก็ควรรีบนำมาทำความสะอาด กำจัดสนิมทันที เพื่อไม่ให้เกิดคราบสนิมฝังแน่น ซึ่งกำจัดได้ยาก และอาจทำลายพื้นผิวจนเสียหายได้